ความเชื่อความศรัทธามีอยู่ในทุกสังคม และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรอบของเรื่องของพระพุทธศาสนาเท่านั้น ขณะเดียวกันความหลากหลายของความศรัทธา ยังก่อเกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับประเทศได้ด้วยเช่นกัน
ความศรัทธาแฝงฝังกับสังคมไทยมาช้านาน และอยู่ในชีวิตประจำวันเราอย่างกลมกลืน เช่น การห้อยพระเครื่องที่คอ หรือพกวัตถุมงคลอยู่ในกระเป๋าสตางค์ การเดินทางไปขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่างๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ความศรัทธา" มาพร้อมกับ "ความหวัง" เราจึงคุ้นชินกับขอพร หรือบนบานศาลกล่าว ทั้งที่ทำในถิ่นที่อยู่อาศัย และเดินทางไปยังสถานที่ที่เชื่อว่ามีพลังแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่
การสักการะองค์ท้าวมหาพรหม ย่านราชประสงค์ ที่คนทั่วโลกเดินทางเข้ามาทำพิธี อาจมองเป็นภาพย้อนแย้ง เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และแวดล้อมไปด้วยความทันสมัยต่างๆ
แต่สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายการท่องเที่ยว ที่มีคนจากทั่วโลกเดินทางมาสักการะปีละกว่าสองล้านคน ซึ่งนั่นได้สร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับผู้ประกอบการต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างที่หลายคนนึกไม่ถึง
คนขายเครื่องสักการะ นางรำ คณะละคร ที่อยู่ประจำศาลพระพรหมเอราวัณ เป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด เพราะหากมีนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาขอพรองค์เทพมีจำนวนมากขึ้น ก็จะให้พวกเขาและเธอมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ที่ "คำชะโนด" ก็เป็นหนึ่งอีกหนึ่งจุดหมายปลายทาง ที่ผู้ศรัทธาเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ ก็สามารถโยงความเชื่อกับโลกของทุนนิยมได้ไม่ต่างกัน
ยังมีวัตถุมงคลอย่าง "พระเครื่อง" ที่ได้รับการปลุกเสกจากเกจิอาจารย์ต่างๆ ก็เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงถึงความนิยมจากผู้มีจิตศรัทธา จนมีการเช่าซื้อกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ราคาหลักสิบไปจนถึงตัวเลขที่สูงลิบลิ่ว
ตลาดพระเครื่องจึงกระจายอยู่ทั่วทุกหัวมุมเมือง และทุกภูมิภาค ที่นึกถึงเป็นอันดับแรกๆ คือตลาดท่าพระจันทร์ แหล่งศึกษาและหาเช่าของคนทั่วไป ที่อยากมีของดีไว้ป้องกันภยันตรายและให้โชคลาภ เรื่อยไปจนถึงนักสะสม หรือเซียนพระ ที่อาจมองไกลไปกว่าความสุขแค่การส่องพระ แต่กลายเป็นธุรกิจระดับประเทศไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อถกเถียงในเรื่องของความเหมาะสม ในการนำ "พระเครื่อง" มาเป็นสินค้า หลายคนมองว่าอาจสุ่มเสี่ยงที่จะนำพามาสู่ความเสื่อมของศาสนาพุทธได้ ขณะที่บางกลุ่มกลับมองว่า การเช่าบูชาเหมือนเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งมากกว่า
สิ่งที่มองต่อไปจากการมี "พุทธมงคล" ที่มากกว่าการเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน เงินทอง มีคนอุปถัมป์ค้ำชู อย่างที่ "สายมู" มีความเชื่อ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึง "สังคม" ที่ยังมีความทุกข์ยาก ขาดหลักประกันชีวิตที่ดีพอ จึงต้องการตัวช่วยที่ทำให้ตัวเองดีขึ้น
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยทุนทางศาสนา จึงหมุนวนและต่อยอดออกไปไม่รู้จบ ตราบใดที่คนยังต้องการที่พึ่งพิงทางจิตใจ
ติดตามสารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย ตอน เศรษฐกิจบนฐานศรัทธา ได้ในวัน เสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. ทาง MCOT HD 30 รับชมย้อนหลังทาง Facebook และ YouTube : สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย