"พหุโภชนา" ความหลากหลายในจานเดียว

"พหุโภชนา" ความหลากหลายในจานเดียว

       อาหาร ไม่ได้ทำให้เราแค่อิ่มท้อง แต่มีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ในจานนั้นๆ "Someone...หนึ่งในหลาย" วันอาทิตย์นี้ จะพาไปวิเคระห์อาหารแต่ละจานว่ามีอะไรที่มากกว่านั้น รับรองว่าหากชำแหละถึงที่มาที่ไปแล้ว อาจจะทึ่งจนนึกไม่ถึงแน่

    "อาหาร" เป็นเครื่องยืนยันสำคัญชนิดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเรามีอารยธรรม มีคนเคยบอกไว้ว่า ถ้าเราจะเข้าใจแต่ละสังคม สิ่งที่ง่ายที่สุดคือกินอาหารของเขา เพราะอาหารหนึ่งจาน หากมองให้ลึกลงไป จะเห็นว่าเกิดขึ้นมาจากสังคมรอบ ๆ ณ ห้วงเวลานั้น ๆ 

    อาหารแต่ละจานที่เรากิน ล้วนมีการผสมผสานของวัตถุดิบและวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลก อย่าง "ส้มตำมะละกอ" อาหารของมหาชนเวลานี้ เริ่มต้นจากมะละกอและพริกที่เดินทางมาจากทวีปอเมริกา แล้วมาเจอกับส่วนผสมที่เป็น ปลาร้า ปูเค็ม ของบ้านเรา ทำให้เกิดรสชาติอันแสนอัศจรรย์ กลายเป็นเมนูฮอตฮิตไปในที่สุด

    ในดินแดนอุษาคเนย์หรือแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ก็นับเป็นแหล่งรวมของอารยธรรม มีความหลากหลายของนานาประเทศที่มารวมกัน มีการรับและส่งต่อวัฒนธรรมผ่านอาหารมาอย่างยาวนาน    

    การโยกย้ายถิ่นที่อยู่กันไปมาของคนในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นมอญ ญวน จาม ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทลาวพวน รวมทั้งลาว มีการเปลี่ยนแปลงไปของอาหาร มีการรับ เติม ตัด และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ตามสภาพภูมิประเทศ และวัตถุดิบ จึงเกิดเป็นอาหารที่แตกต่างกันออกไป

    อย่างคนจีนที่ชอบกินผัดหมี่ ใส่เต้าหู้ ถั่วงอก กุยช่าย มีรสชาติเค็ม มัน แต่เมื่อคนไทยทำ ก็จะใส่พริกป่น ถั่วลิสง มะขามเปียก น้ำปลา กินกับหัวปลี กลายเป็นผัดไทยไป หรือแม้แต่แกงจืดทั้งหลาย เราก็ทำให้กลายเป็นต้มยำในแบบของเรา ซึ่งทั้งหมดมีพื้นฐานมาจากจีน เมื่อเราไปเอาของเขามา ก็จะเปลี่ยนให้เป็นของอีกแบบหนึ่งได้เสมอ ทั้งนี้ อาหารพม่ากับอาหารไทยเอง ก็มีส่วนที่คล้ายกัน เกิดจากการผสมผสานที่มีมานานมากแล้ว 

    นอกจากนี้ จะเห็นว่า "เครื่องเทศ" ต่าง ๆ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม ทั้ง จีน อินเดีย ตะวันตก อย่าง "อบเชย" คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า อาหารนั้นไร้พรมแดนจริง ๆ เราไม่สามารถแยกได้ออกเลยว่า อาหารของใครส่งอิทธิพลให้กับใคร เพราะว่ามันเกิดการผสมผสานกันจนแยกไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นผ่านอบเชยนั้นก็คือ การนำไปปรับปรุง และปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตการกินของคนในถิ่นนั้น ๆ มากกว่า 

    ขณะเดียวกัน บางทีอาหารจานโปรดของวัฒนธรรมหนึ่ง อาจจะเป็นอาหารที่กินไม่ได้เลยของอีกวัฒนธรรมก็ได้ อย่างการกินเนื้อดิบแบบคนเหนือ-อีสาน รวมทั้งคนตะวันตก แต่คนในอีกหลายพื้นที่ก็ไม่กล้ากิน  

    ในปัจจุบันยังมีสิ่งที่เป็นข้อกังวลก็คือ ได้มีการพยายามทำให้อาหารรสชาติคงที่ ด้วยการทำเป็นอุตสาหกรรมอาหารขึ้นมา ซึ่งการทำให้รสชาติของอาหารที่เหมือนกัน จะเกิดความหายนะทางวัฒนธรรมขึ้นหรือเปล่า เป็นคำถามที่น่าคิดทีเดียว 

    อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่า "อาหาร" จะสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ความเชื่อ ศาสนา รวมถึงรัฐศาสตร์ การเมือง นโยบายระหว่างประเทศ ที่จะทำอะไร หรือจะสนับสนุนใคร ไม่สนับสนุนใคร รวมไปถึงสิ่งที่เป็น Soft Power ได้มากมายขนาดนี้ 

    ร่วมค้นหาคุณค่าและความหมายของ "อาหาร" แต่ละจานได้จากสารคดีชุด SOME ONE หนึ่งในหลาย ตอน "พหุโภชนา" วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 ทาง MCOT HD เวลา 09.30 น.-10.00 น. และ  Facebook / YouTube : สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย